การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง


    ความสำคัญของระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง

 
    
น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์แก๊ซโซลีนผลิตขึ้นจากน้ำมันพื้นฐานและสารเพิ่มคุณภาพในปริมาณที่พอเหมาะหลายชนิดพอสรุปได้ดังนี้ -

  • สารเพิ่มดัชนีความหนืด (Viscosity Index Improvers)
  • สารชะล้างและกระจายคราบเขม่า (Detergency and Dispersancy Additives)
  • สารป้องกันปฏิกิริยาอ๊อคซิเดชั่น (Oxidation Inhibitors)
  • สารป้องกันการกัดกร่อน (Corrosion Inhibitors)
  • สารเพิ่มความเป็นด่าง (Alkaline Additives)
  • สารป้องกันการสึกหรอ (Anti-wear Additives)
  • สารรับแรงกดสูง (Extreme Pressure Additives)
  • สารป้องกันฟอง (Anti-foam Additives)
  • สารลดจุดไหลเท (Pour Point Depressants)

                     น้ำมันพื้น ฐานและสารเพิ่มคุณภาพบางตัวข้างบนจะถูกใช้หมดสภาพไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาและปกป้องเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพปกติ ดังนั้นน้ำมันหล่อลื่นเมื่อถูกใช้งานไประยะหนึ่ง น้ำมันพื้นฐานจะเริ่มเสื่อมสภาพลงเป็นผลให้ความหนืดเปลี่ยนแปลงไป และเกิดสารเคมีจำพวกกรดที่มีอำนาจการกัดกร่อน พร้อมทั้งสารเพิ่มคุณภาพจะเริ่มหมดไป เป็นสาเหตุให้เราต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องใหม่ที่มีความหนืดถูกต้องและ มีสารเพิ่มคุณภาพเต็มจำนวน เพื่อช่วนให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป
                    สิ่งเจือปนในน้ำมันหล่อลื่นอื่นๆ เช่น เศษโลหะจากการสึกหรอ เขม่า น้ำ และตัวเนื้อน้ำมันพื้นฐานที่เสื่อมคุณภาพแล้ว จะเพิ่มปริมาณขึ้นอยู่ตลอดเวลาถึงแม้ว่าจะมีหม้อกรองน้ำมันช่วยกรองสารเหล่า นี้แล้ว แต่ยังมีสิ่งเจือปนขนาดเล็กแขวนลอยอยู่ในน้ำมันได้ เนื่องจากผลของสารเพิ่มคุณภาพประเภทกระจายเขม่า แต่อย่างไรก็ตามเมื่อใช้น้ำมันหล่อลื่นไประยะหนึ่งสารเจือปนเหล่านี้จะมี เกินกำหนดที่สารกระจายคราบเขม่าสามารถกระจายได้ คราบเขม่าเหล่านี้จะจับตัวเป็นก้อนก่อให้เกิดโคลน (Sludge)ในน้ำมัน ทำให้น้ำมันเสื่อมสภาพและต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องในที่สุด
                   จากการเสื่อมสภาพของน้ำมันข้างต้นเป็นการยากที่ผู้ใช้น้ำมันจะสังเกตได้ว่า น้ำมันหล่อลื่นที่ใช้อยู่ได้เสื่อมสภาพไปมากน้อยเท่าไรแล้ว ผู้ใช้จึงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตเครื่องยนต์ได้ กำหนดไว้ ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวได้มาจากประสบการณ์ของผู้ผลิตเครื่องยนต์ และคุณภาพของน้ำมันหล่อลื่นตามที่ผู้ผลิตเครื่องยนต์ได้แนะนำไว้

    จะใช้น้ำมันเครื่องชนิดใด


น้ำมันเครื่องสังเคราะห์มีคุณภาพ ในทุกด้านดีกว่า และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าน้ำมันเครื่องธรรมดามาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีราคาแพงกว่ามากเช่นกัน ฉนั้นการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเคื่องธรรมดาที่มีคุณภาพสูง อาจจะคุ้มค่ากว่า การใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์

นอกจากจะต้องการใช้รถนานนับแสน หรือหลายแสนกิโลเมตร โดยเครื่องยนต์ยังคงสภาพดีอยู่ กรณีนี้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ส่วนกรณีที่ผู้ผลิตรถยนต์ระบุให้ใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ รถคันนั้นต้องใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์เท่านั้น เนื่องจากรถเหล่านี้จะถูกกำหนดระยะเวลาการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง นานกว่ารถที่ใช้น้ำมันเครื่องธรรมดามาก



   เมื่อไรจะถึงเวลาเติม-เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง


ให้ยึดถือตามที่ผู้ผลิตรถยนต์ระบุไว้ในคู่มือประจำรถแต่ละคัน ซึ่งอาจจะมีระยะยาวหรือสั้นแตกต่างกันมาก ในรถแต่ละยี่ห้อสาเหตุใหญ่ก็เนื่องมาจาก คุณภาพของน้ำมันเครื่องที่ระบุให้ใช้ เช่น รถที่ระบุให้ใช้กับน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ จะมักจะถูกกำหนดให้เปลี่ยนถ่ายที่ 15,000 กม และอาจถึง 30,000 กม. โดยทั่วไปแล้วรถยนต์ทั่วไป จะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุก 5,000 ถึง 7,500 กม.

ส่วนน้ำมันเครื่องดีเซลมักจะถูกกำหนด ให้เปลี่ยนถ่ายเร็วกว่าเครื่องเบนซิน เนื่องจากเครื่องดีเซลมีเขม่าจากการเผาไหม้มากกว่า และเขม่าเหล่านี้จะหมุนเวียนอยู่ในน้ำมันเครื่อง

ส่วนรถที่ใช้งานหนักกว่าปกติ คือวิ่งเส้นทางระยะทางสั้นๆเป็นประจำ หรือ ขับด้วยความเร็วสูงมากเป็นประจำ ควรจะต้องเปลี่ยนถ่ายเร็วกว่าที่ผู้ผลิตกำหนด ขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งานของรถแต่ละคัน

ในกรณีที่ยอมจ่ายแพง เพื่อใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพสูงกว่าที่ผู้ผลิตกำหนด สามารถยืดระยะการเปลี่ยนถ่ายออกไปได้ แต่ก็ไม่ควรเพิ่มเกิน 50% หรือ 2 เท่า ของที่ผู้ผลิตกำหนด เนื่องจากข้อจำกัดของไส้กรอง เนื่องจากน้ำมันเครื่องเมื่อใช้เป็นเวลานาน มีเศษโลหะจากเครื่องยนต์ และสารแขวงลอย จากการเผาไหม้หมุนเวียนอยู่ในน้ำมันเครื่อง เป็นอันตรายต่อเครื่องยนต์ต้องถ่ายทิ้ง

ควรตรวจและเติมน้ำมันเครื่องให้เต็มอยู่เสมอ เนื่องจากน้ำมันเครื่องมากจะเสื่อมสภาพช้ากว่า และระบายความร้อนได้ดีกว่า รถยนต์รุ่นใหม่ที่เน้นเรื่องการควบคุมมลพิษ จะควบคุมการเผาไหม้ของน้ำมันเครื่องได้ดีมาก ทำให้น้ำมันเครื่องเต็มอยู่เสมอ แม้จะใช้งานไปนานถึงแม้ว่าน้ำมันเครื่องจะไม่พร่องเลย ก็ยังคงต้องเปลี่ยนถ่ายตามที่ผู้ผลิตกำหนด